เชื่อว่าช่วงนี้ คนไทยหลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้ง หลังจากที่ออเจ้าหรือแม่นายการะเกด จากละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยา เรื่อง พรหมลิขิต ซึ่งเป็นภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ซึ่งมีตัวละครหลักที่คอยเดินเรื่อง และตัวละครเสริมอื่น ๆ เพิ่มเนื้อหาให้ละครมีสีสันและสนุกมากขึ้น ซึ่งบทบาทตัวละครในเรื่องก็มีตั้งแต่เจ้านาย ชาวบ้าน ไปจนถึงข้าทาส ที่ดูไปก็แอบงงเล็กน้อย เพราะวิชาความรู้ประวัติศาสตร์ที่เคยได้ร่ำเรียนมา คืนตำราและครูอาจารย์ไปเสียสิ้น วันนี้เลยจะมาชวนออเจ้าทั้งหลายทบทวนระบบชนชั้นสังคม และเศรษฐกิจสมัยอยุธยากันเสียหน่อย ช่วยให้เข้าใจเนื้อหา ได้ความรู้ผ่านตัวละครทุกบท เพิ่มอรรถรสในการชมยิ่งขึ้นค่ะ
เริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา
ก่อนยุคอยุธยา กรุงสุโขทัยเป็นเมืองใหญ่ที่มีเมืองขึ้นมากมาย รวมถึงเมืองอู่ทอง จนกระทั่งกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงในราว ๆ ปี พ.ศ.1893 ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ เริ่มแข็งข้อ พระเจ้าอู่ทองได้สะสมกองกำลังและนำผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่าง แยกตัวอิสระจากสุโขทัย แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยตั้งราชธานีบริเวณหนองโสนหรือบีงพระราม (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) และมีพระเจ้าอู่ทองเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิดีที่ 1 ครองราชย์กรุงศรีอยุธยานานถึง 20 ปี
ทำไมพระเจ้าอู่ทองทรงเลือกตั้งราชธานีที่หนองโสน
เนื่องจากทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ในด้านยุทธศาสตร์ การคมนาคม และดีต่อเศรษฐกิจ เพราะบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะ มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำลพบุรี เป็นศูนย์กลางในการเดินทาง มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการทำการเกษตรกรรม อีกทั้งยังอยู่ใกล้ทะเล ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ง่าย
การปกครองสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร
การปกครองในสมัยอยุธยา กษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ซี่งเรียกว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโดยใช้ระยะเวลาถึง 417 ปี ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ 5 ราชวงศ์ ดังนี้
- ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ.1893 – 1913 และ พ.ศ.1931 – 1952)
- ราชวงศ์สุวรรณภูมิ (พ.ศ.1913 – 1931 และ พ.ศ.1952 – 2112)
- ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ.2112 – 2172)
- ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ.2172 – 2231)
- ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ.2231 – 2310)
การจัดระเบียบการปกครองในสมัยอยุธยา แบ่งออกเป็น 2 สมัย ดังนี้
1. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893 – พ.ศ.1991)
การปกครองส่วนกลาง หรือการปกครองภายในราชธานี เรียกว่า การปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยมีขุนนาง 4 ฝ่าย ทำหน้าที่ ดังนี้
- กรมเวียง ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในราชธานี
- กรมวัง ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีต่าง ๆ
- กรมคลัง ทำหน้าที่เก็บราชทรัพย์และผลประโยชน์ของแผ่นดิน
- กรมนา ทำหน้าที่เก็บเสบียงไว้ใช้ในยามสงคราม และดูแลการทำเรือกสวน ไร่ นา
การปกครองส่วนภูมิภาค ได้แก่ ตามหัวเมืองที่อยู่นอกราชธานี โดยจะมีการโปรดให้เจ้านาย หรือขุนนางที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง ซึ่งจะมีการแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เมืองหน้าด่าน ได้แก่ เมืองที่อยู่รอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ
- เมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองที่อยู่ไม่ห่างจากราชธานีมากนัก
- เมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองที่อยู่ห่างไกลจากราชธานีมาก
2. สมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 – สิ้นสุดสมัยอยุธยา)
พระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ.1991 โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
มีการเปลี่ยนชื่อกรมของระบบจตุสดมภ์
- กรมเวียง เปลี่ยนเป็น นครบาล
- กรมวัง เปลี่ยนเป็น ธรรมาธิกรณ์
- กรมคลัง เปลี่ยนเป็น โกษธิบดี
- กรมนา เปลี่ยนเป็น เกษตราธิการ
ทรงแบ่งหัวเมืองชั้นนอก ให้เป็นเมือง -ชั้นเอก -ชั้นโท -ชั้นตรี ตามลำดับ
แยกฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยทรงกำหนดให้
- สมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร
- สมุหนายก เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน
การปกครองหัวเมืองประเทศราช ให้เจ้านายของชนชาตินั้นปกครองกันเอง โดยต้องมีการส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามลำดับ
การจัดระเบียบทางสังคมในสมัยอยุธยา
ในสมัยอยุธยาจะใช้ระบบศักดินาจำแนกสถานะทางสังคม มีตั้งแต่สูงสุดไปจนถึงต่ำสุด ซึ่งมีองค์ประกอบของสังคม ดังนี้
ชนชั้นปกครอง ได้แก่
- พระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสูงสุด
- เจ้านาย คือ เชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์
- ขุนนาง คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ โดยจะมีขุนนางหลายระดับ โดยพิจารณาจาก
- ยศ แสดงลำดับขั้นขุนนาง
- ราชทินนาม เป็นนามที่ได้พระราชทาน แสดงถึงหน้าที่รับผิดชอบ
- ตำแหน่ง หน้าที่ในราชการ
- ศักดินา เป็นเครื่องกำหนดฐานะทางสังคม
ชนชั้นใต้ปกครอง ประกอบไปด้วย
- ไพร่ คือ พลเมืองสามัญ ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในสังคมอยุธยา (หากเทียบกับคนยุคปัจจุบัน เปรียบได้กับประชาชนคนชั้นกลาง ทำงานเสียภาษีให้กับรัฐฯ นั่นเอง) โดยทางกฏหมายในยุคนั้น กำหนดให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย และถูกเกณฑ์แรงงานไปทำราชการให้หลวงปีละ 6 เดือน โดยไม่มีเงินให้เป็นค่าตอบแทน แต่จะได้การปกป้องคุ้มครองจากมูลนายที่ตนสังกัดเป็นสิ่งตอบแทน ไพร่ มี 2 ประเภท ได้แก่
- ไพร่หลวง คือ ไพร่ที่ขึ้นทะเบียนสังกัดพระมหากษัตริย์โดยตรง ส่งส่วยแทนการรับราชการ สำหรับผู้หญิงไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
- ไพร่สม คือ ไพร่ที่ขึ้นสังกัดมูลนาย โดยมูลนายจะมีจำนวนไพร่ในสังกัดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับยศ ตำแหน่ง และศักดินา
- ทาส คือ ชนชั้นต่ำสุดในสมัยอยุธยา มีฐานะเป็นแรงงานและถือเป็นสมบัติของนาย มีค่าตัว ถูกซื้อขายได้ ทาส มี 7 ประเภท ได้แก่
- ทาสสินไถ่
- ทาสในเรือนเบี้ย
- ทาสที่ได้จากบิดามารดา
- ทาสจากการที่มีผู้มอบให้
- ทาสที่ช่วยเหลือจากทัณฑโทษ
- ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในยามทุพภิกขภัย
- ทาสเชลย
วิธีการหลุดพ้นจากการเป็นทาส ได้แก่
- การบวช
- ทาสที่แต่งงานกับนายทาสหรือญาติพี่น้องนายทาส
- ทาสที่ไปรบแล้วถูกจับเป็นเชลยและหนีรอดกลับมาหรือถูกปล่อยเป็นอิสระ
- ทาสที่ฟ้องว่านายเป็นกบฏ
พระสงฆ์ คือ ผู้ที่ได้รับความเคารพจากทุกชนชั้น ซึ่งคนในทุกชนชั้นสามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้ และเมื่อบวชแล้วจะมีฐานะเท่าเทียมกัน
การศึกษาในสมัยอยุธยา
การศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ของคนในสมัยอยุธยา มีดังนี้
- บ้าน เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ในวงศ์ตระกูล
- วัด เป็นสถานที่ศึกษาสำหรับเด็กผู้ชาย และการบวชเรียน
- วัง เป็นสถานที่รวมนักปราชญ์และราชบัณฑิตทั้งหลาย
อาชีพและระบบเศรษฐกิจสมัยอยุธยา
อาชีพของชาวอยุธยา
- ทำการเกษตร โดยมีอาชีพทำนาเป็นหลัก
- หัตกรรม ผลิตงานฝีมือ โดยจะมีการรวมช่างฝีมืออยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน
- ค้าขาย การค้าในอยุธยามี 2 แบบด้วยกัน คือ
3.1) ค้าขายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพืชผลผลิตทางการเกษตร
3.2) ค้าขายระหว่างประเทศ ชาวอยุธยาสามารถค้าขายกับพ่อค้าต่างชาติได้โดยตรงอย่างเสรี โดยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ได้แก่
- กรมท่าซ้าย ซึ่งมีโชฎีราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรม (ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชาวจีน) ดูแลกิจการค้าสำเภากับดินแดนตะวันออก
- กรมท่าขวา มีจุฬาราชมนตรีเป็นเจ้ากรม ดูแลกิจการค้าสำเภากับดินแดนตะวันตก
เงินตราที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
- พดด้วง ทำจากโลหะเงิน มีตราประทับหลายแบบ
- เบี้ย คือ เปลือกหอยทะเลที่ถูกนำมาใช้แทนค่าเงิน
- ไพและกล่ำ ทำจากโลหะที่ไม่ใช่เงิน
- ประกับ ทำมาดินเผาที่มีการตีตราประทับ ใช้แทนเบี้ย
สมัยอยุธยามีการเก็บอากรไหมและส่วยคืออะไร
เรามักจะได้ยินการส่งส่วย หรือแม้แต่ไพร่เองก็ยังต้องส่งส่วย ซึ่งส่วยเป็นส่วนหนึ่งของรายได้หมุนเวียนภายในสังคมคนสมัยอยุธยา ซึ่งประกอบไปด้วย
- จังกอบ มี 2 แบบ คือ จังกอบสินค้า และ จังกอบปากเรือ
- อากร คือ ภาษีที่เก็บจากราษฎร โดยมีอากรค่านา อากรสมพัดสร อากรศุลกากร อากรสวน อากรตลาด อากรบ่อนเบี้ย อากรค่าน้ำ และ อากรสุรา
- ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากราษฎรในกิจการที่ทางราชการจัดการให้
- ส่วย คือ เงินหรือข้าวของที่ต้องส่งให้ราชสำนัก เช่น บรรณาการ ส่วยแรงงาน เป็นต้น
หวังว่าข้อมูลคร่าว ๆ เหล่านี้ จะช่วยทำความเข้าใจและเพิ่มอรรถรสในการรับชมละครอิงประวัตศาสตร์ไทยให้สนุกพร้อมได้สาระความรู้มากขึ้นนะเจ้าคะออเจ้า