Written by 5:24 am ความรู้, คัดสรรโดยทีมงาน, ท่องเที่ยว, วัฒนธรรม, สังคม, สิ่งแวดล้อม, เศรษฐศาสตร์, แนะนำ, ไลฟ์สไตล์

ย้อนยุคไปกับแม่หญิงการะเกด เราคือชนชั้นไหนในระบบสังคมไทยสมัยอยุธยา พร้อมสรุประบบการปกครองเมืองกรุงศรีฯ แบบรวบรัด

100325576 900a998c 2fa6 4350 96cb a1c51e1638ca

เชื่อว่าช่วงนี้ คนไทยหลายคนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้ง หลังจากที่ออเจ้าหรือแม่นายการะเกด จากละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ไทยในสมัยอยุธยา เรื่อง พรหมลิขิต ซึ่งเป็นภาคต่อจาก บุพเพสันนิวาส ซึ่งมีตัวละครหลักที่คอยเดินเรื่อง และตัวละครเสริมอื่น ๆ เพิ่มเนื้อหาให้ละครมีสีสันและสนุกมากขึ้น ซึ่งบทบาทตัวละครในเรื่องก็มีตั้งแต่เจ้านาย ชาวบ้าน ไปจนถึงข้าทาส ที่ดูไปก็แอบงงเล็กน้อย เพราะวิชาความรู้ประวัติศาสตร์ที่เคยได้ร่ำเรียนมา คืนตำราและครูอาจารย์ไปเสียสิ้น วันนี้เลยจะมาชวนออเจ้าทั้งหลายทบทวนระบบชนชั้นสังคม และเศรษฐกิจสมัยอยุธยากันเสียหน่อย ช่วยให้เข้าใจเนื้อหา ได้ความรู้ผ่านตัวละครทุกบท เพิ่มอรรถรสในการชมยิ่งขึ้นค่ะ

เริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยา 

ก่อนยุคอยุธยา กรุงสุโขทัยเป็นเมืองใหญ่ที่มีเมืองขึ้นมากมาย รวมถึงเมืองอู่ทอง จนกระทั่งกรุงสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงในราว ๆ ปี พ.ศ.1893 ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ เริ่มแข็งข้อ พระเจ้าอู่ทองได้สะสมกองกำลังและนำผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลางและตอนล่าง แยกตัวอิสระจากสุโขทัย แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยตั้งราชธานีบริเวณหนองโสนหรือบีงพระราม (จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) และมีพระเจ้าอู่ทองเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิดีที่ 1 ครองราชย์กรุงศรีอยุธยานานถึง 20 ปี 

ทำไมพระเจ้าอู่ทองทรงเลือกตั้งราชธานีที่หนองโสน 

เนื่องจากทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ในด้านยุทธศาสตร์ การคมนาคม และดีต่อเศรษฐกิจ เพราะบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นเกาะ มีแม่น้ำล้อมรอบ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และ แม่น้ำลพบุรี เป็นศูนย์กลางในการเดินทาง มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการทำการเกษตรกรรม อีกทั้งยังอยู่ใกล้ทะเล ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้ง่าย

11231878 719941844778733 7120226949785061266 o
ภาพจาก Facebook ราชธานีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา

การปกครองสมัยอยุธยาเป็นอย่างไร

การปกครองในสมัยอยุธยา กษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ซี่งเรียกว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโดยใช้ระยะเวลาถึง 417 ปี ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ 5 ราชวงศ์ ดังนี้ 

  1. ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ.1893 – 1913 และ พ.ศ.1931 – 1952) 
  2. ราชวงศ์สุวรรณภูมิ (พ.ศ.1913 – 1931 และ พ.ศ.1952 – 2112)
  3. ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ.2112 – 2172) 
  4. ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ.2172 – 2231) 
  5. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ.2231 – 2310) 

การจัดระเบียบการปกครองในสมัยอยุธยา แบ่งออกเป็น 2 สมัย ดังนี้ 

1. สมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893 – พ.ศ.1991)

การปกครองส่วนกลาง หรือการปกครองภายในราชธานี เรียกว่า การปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยมีขุนนาง 4 ฝ่าย ทำหน้าที่ ดังนี้ 

  1. กรมเวียง ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในราชธานี 
  2. กรมวัง ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีต่าง ๆ 
  3. กรมคลัง ทำหน้าที่เก็บราชทรัพย์และผลประโยชน์ของแผ่นดิน
  4. กรมนา ทำหน้าที่เก็บเสบียงไว้ใช้ในยามสงคราม และดูแลการทำเรือกสวน ไร่ นา 

การปกครองส่วนภูมิภาค ได้แก่ ตามหัวเมืองที่อยู่นอกราชธานี โดยจะมีการโปรดให้เจ้านาย หรือขุนนางที่ไว้วางพระทัยไปปกครอง ซึ่งจะมีการแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 

  1. เมืองหน้าด่าน ได้แก่ เมืองที่อยู่รอบราชธานีทั้ง 4 ทิศ 
  2. เมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองที่อยู่ไม่ห่างจากราชธานีมากนัก 
  3. เมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองที่อยู่ห่างไกลจากราชธานีมาก 

2. สมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 – สิ้นสุดสมัยอยุธยา) 

พระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ.1991 โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้ 

มีการเปลี่ยนชื่อกรมของระบบจตุสดมภ์ 

  1. กรมเวียง เปลี่ยนเป็น นครบาล
  2. กรมวัง เปลี่ยนเป็น  ธรรมาธิกรณ์
  3. กรมคลัง เปลี่ยนเป็น โกษธิบดี 
  4. กรมนา เปลี่ยนเป็น เกษตราธิการ 

ทรงแบ่งหัวเมืองชั้นนอก ให้เป็นเมือง -ชั้นเอก -ชั้นโท -ชั้นตรี ตามลำดับ 

แยกฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน โดยทรงกำหนดให้

  1. สมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร 
  2. สมุหนายก เป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน 

การปกครองหัวเมืองประเทศราช ให้เจ้านายของชนชาตินั้นปกครองกันเอง โดยต้องมีการส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามลำดับ 

K9837840 1
ภาพจาก http://www.nextsteptv.com/

การจัดระเบียบทางสังคมในสมัยอยุธยา  

ในสมัยอยุธยาจะใช้ระบบศักดินาจำแนกสถานะทางสังคม มีตั้งแต่สูงสุดไปจนถึงต่ำสุด ซึ่งมีองค์ประกอบของสังคม ดังนี้ 

ชนชั้นปกครอง ได้แก่ 

  1. พระมหากษัตริย์ มีฐานะเป็นสมมติเทพ มีอำนาจสูงสุด 
  2. เจ้านาย คือ เชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ 
  3. ขุนนาง คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ โดยจะมีขุนนางหลายระดับ โดยพิจารณาจาก
  • ยศ  แสดงลำดับขั้นขุนนาง
  • ราชทินนาม เป็นนามที่ได้พระราชทาน แสดงถึงหน้าที่รับผิดชอบ 
  • ตำแหน่ง หน้าที่ในราชการ 
  • ศักดินา เป็นเครื่องกำหนดฐานะทางสังคม 

ชนชั้นใต้ปกครอง ประกอบไปด้วย 

  1. ไพร่  คือ พลเมืองสามัญ ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในสังคมอยุธยา (หากเทียบกับคนยุคปัจจุบัน เปรียบได้กับประชาชนคนชั้นกลาง ทำงานเสียภาษีให้กับรัฐฯ นั่นเอง) โดยทางกฏหมายในยุคนั้น กำหนดให้ไพร่ต้องสังกัดมูลนาย และถูกเกณฑ์แรงงานไปทำราชการให้หลวงปีละ 6 เดือน  โดยไม่มีเงินให้เป็นค่าตอบแทน แต่จะได้การปกป้องคุ้มครองจากมูลนายที่ตนสังกัดเป็นสิ่งตอบแทน  ไพร่ มี 2 ประเภท ได้แก่ 
  • ไพร่หลวง คือ ไพร่ที่ขึ้นทะเบียนสังกัดพระมหากษัตริย์โดยตรง ส่งส่วยแทนการรับราชการ สำหรับผู้หญิงไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน
  • ไพร่สม คือ ไพร่ที่ขึ้นสังกัดมูลนาย โดยมูลนายจะมีจำนวนไพร่ในสังกัดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับยศ ตำแหน่ง และศักดินา 
  1. ทาส คือ ชนชั้นต่ำสุดในสมัยอยุธยา มีฐานะเป็นแรงงานและถือเป็นสมบัติของนาย มีค่าตัว ถูกซื้อขายได้  ทาส มี 7 ประเภท ได้แก่ 
  • ทาสสินไถ่ 
  • ทาสในเรือนเบี้ย
  • ทาสที่ได้จากบิดามารดา 
  • ทาสจากการที่มีผู้มอบให้
  • ทาสที่ช่วยเหลือจากทัณฑโทษ
  • ทาสอันได้เลี้ยงไว้ในยามทุพภิกขภัย
  • ทาสเชลย

วิธีการหลุดพ้นจากการเป็นทาส ได้แก่ 

  • การบวช 
  • ทาสที่แต่งงานกับนายทาสหรือญาติพี่น้องนายทาส 
  • ทาสที่ไปรบแล้วถูกจับเป็นเชลยและหนีรอดกลับมาหรือถูกปล่อยเป็นอิสระ
  • ทาสที่ฟ้องว่านายเป็นกบฏ 

พระสงฆ์ คือ ผู้ที่ได้รับความเคารพจากทุกชนชั้น ซึ่งคนในทุกชนชั้นสามารถบวชเป็นพระสงฆ์ได้ และเมื่อบวชแล้วจะมีฐานะเท่าเทียมกัน 

การศึกษาในสมัยอยุธยา 

การศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ของคนในสมัยอยุธยา มีดังนี้ 

  1. บ้าน เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้ในวงศ์ตระกูล 
  2. วัด เป็นสถานที่ศึกษาสำหรับเด็กผู้ชาย และการบวชเรียน 
  3. วัง เป็นสถานที่รวมนักปราชญ์และราชบัณฑิตทั้งหลาย 

อาชีพและระบบเศรษฐกิจสมัยอยุธยา 

อาชีพของชาวอยุธยา 

  1. ทำการเกษตร โดยมีอาชีพทำนาเป็นหลัก 
  2. หัตกรรม ผลิตงานฝีมือ โดยจะมีการรวมช่างฝีมืออยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน 
  3. ค้าขาย การค้าในอยุธยามี 2 แบบด้วยกัน คือ 

3.1) ค้าขายในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพืชผลผลิตทางการเกษตร 

3.2) ค้าขายระหว่างประเทศ ชาวอยุธยาสามารถค้าขายกับพ่อค้าต่างชาติได้โดยตรงอย่างเสรี โดยมีหน่วยงานดูแลรับผิดชอบ ได้แก่ 

  • กรมท่าซ้าย ซึ่งมีโชฎีราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรม (ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชาวจีน) ดูแลกิจการค้าสำเภากับดินแดนตะวันออก
  • กรมท่าขวา มีจุฬาราชมนตรีเป็นเจ้ากรม ดูแลกิจการค้าสำเภากับดินแดนตะวันตก 

เงินตราที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา 

  1. พดด้วง ทำจากโลหะเงิน มีตราประทับหลายแบบ 
  2. เบี้ย คือ เปลือกหอยทะเลที่ถูกนำมาใช้แทนค่าเงิน 
  3. ไพและกล่ำ ทำจากโลหะที่ไม่ใช่เงิน 
  4. ประกับ ทำมาดินเผาที่มีการตีตราประทับ ใช้แทนเบี้ย 

สมัยอยุธยามีการเก็บอากรไหมและส่วยคืออะไร

เรามักจะได้ยินการส่งส่วย หรือแม้แต่ไพร่เองก็ยังต้องส่งส่วย ซึ่งส่วยเป็นส่วนหนึ่งของรายได้หมุนเวียนภายในสังคมคนสมัยอยุธยา ซึ่งประกอบไปด้วย 

  1. จังกอบ มี 2 แบบ คือ  จังกอบสินค้า และ จังกอบปากเรือ 
  2. อากร คือ ภาษีที่เก็บจากราษฎร โดยมีอากรค่านา อากรสมพัดสร อากรศุลกากร อากรสวน อากรตลาด อากรบ่อนเบี้ย อากรค่าน้ำ และ อากรสุรา 
  3. ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากราษฎรในกิจการที่ทางราชการจัดการให้
  4. ส่วย คือ เงินหรือข้าวของที่ต้องส่งให้ราชสำนัก เช่น บรรณาการ ส่วยแรงงาน เป็นต้น 

หวังว่าข้อมูลคร่าว ๆ เหล่านี้ จะช่วยทำความเข้าใจและเพิ่มอรรถรสในการรับชมละครอิงประวัตศาสตร์ไทยให้สนุกพร้อมได้สาระความรู้มากขึ้นนะเจ้าคะออเจ้า

(Visited 53 times, 1 visits today)
Close