Written by 6:21 am ประชาสัมพันธ์

วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน และไล่งูยังไงให้ปลอดภัย

ช่วงนี้ชาวกรุงมักจะพบเจองูได้บ่อย ทั้งในที่สาธารณะ บนต้นไม้ เสาไฟฟ้า แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ งูเข้าบ้าน และมักได้ยินใครหลายคนเอ่ยในทำนองว่าไม่น่าเชื่อจะเจองูในเมืองที่วุ่นวายอย่างใน “กรุงเทพมหานคร” 

ที่จริงแล้ว ในหลาย ๆ พื้นที่ของกรุงเทพฯมีงูชุกชุม และบางพื้นที่ก็เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของงู ก่อนที่มนุษย์จะไปรุกล้ำและเบียดเบียนที่อยู่ของพวกเขา ทำให้งูเหล่านั้นต้องหาที่หลบซ่อนตัวอาศัย แต่ก็ไม่ได้หายไปไหน จึงสามารถพบเจอได้อยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขัง ทำให้งูต้องออกมาจากที่หลบซ่อนตัวเพื่อหนีลี้ภัยหนีน้ำ ประกอบกับในเมืองกรุงมักมีอาหารชั้นเลิศมากมาย อย่าง หนู และสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เช่น แมว ลูกสุนัข เป็นต้น ทำให้งูมักโผล่ออกมาให้คนเห็นกันมากขึ้นนั่นเอง 

สถิติล่าสุดของปีนี้มีเหตุแจ้งพบเจองูและมีงูเข้าบ้านประชาชนไปแล้วกว่า 22,600 ครั้ง โดยพบมากที่สุดคือ งูเหลือม รองลงมาคือ งูเห่า อีก 25% คือ งูสิง งูทางมะพร้าว และอีก 5% คืองูต่างถิ่นอย่าง งูจงอาง ที่มักติดมากับรถยนต์ในพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากงูชอบเข้าไปหลบซ่อนในซอกรถ เพราะเครื่องยนต์จะอุ่นหลังจากสตาร์ทรถ ทำให้มักมีงูต่างถิ่นติดมากับรถจำนวนมาก จึงทำให้เรามักเห็นข่าวเรื่องงูติดมากับรถบ่อย ๆ และอีกส่วนหนึ่งคืองูที่มีคนเลี้ยงไว้แล้วหลุดออกมา ก็อยู่ในส่วนของ 5% นั้นด้วยเช่นกัน 

สาเหตุที่งูเข้าบ้าน 

ก่อนจะรู้วิธีไล่งู เรามาดูปัจจัยที่ทำให้งูเข้าบ้านกันก่อน จะได้ป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านได้ในครั้งต่อไป

1. สภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน 

หากบริเวณรอบบ้านรายล้อมไปด้วยป่า หรือมีหนองน้ำ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของงูหลายสายพันธุ์ ทำให้มีโอกาสสูงตามไปด้วยที่บ้านของคุณจะเป็นเส้นทางผ่านของงู และอาจมีการแวะเข้าไปหาอาหารหรือหลบซ่อนภายในบ้าน 

2. สภาพภายในบ้าน 

บ้านร้าง บ้านที่ไม่มีคนอยู่อาศัยนาน ๆ บ้านรก ของเยอะ วางสุมไม่เป็นระเบียบ มีต้นไม้หรือสวนรกไปด้วยเศษใบไม้ ต้นหญ้าสูง และกองขยะ คือสภาพบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการหลบซ่อนตัวของงูและสัตว์มีพิษทั้งหลาย และถ้ายิ่งมีโพรง มีรูหรือช่องโหว่ที่สามารถเข้าไปอยู่ได้ พวกมันก็จะยึดเป็นรังและออกลูกออกหลานอยู่ในนั้นอย่างถาวร 

3. มีแหล่งอาหารชั้นดี 

หากในบ้านเป็นแหล่งอาหารของงู โดยมีเหยื่อชั้นดีทั้งที่เป็นสัตว์ไม่ได้เลี้ยง เช่น หนู กบ อึ่งอ่าง จิ้งจก ตุ๊กแก หรือสัตว์เลี้ยง อย่าง แมว กระต่าย ไก่ ฯลฯ นับว่าเป็นสิ่งล่อให้งูเลี้อยเข้าบ้านเพื่อต้องการอาหารได้อย่างดี 

4. ไม่มีศัตรู 

บ้านที่ไม่มีศัตรูของงู เช่น สุนัข ห่าน ที่คอยไล่งู อาจทำให้งูพันธุ์เล็กเลื้อยเข้าบ้านได้อย่างสบายใจ ยกเว้นงูขนาดใหญ่อย่างงูหลาม งูเหลือม เพราะสัตว์ทุกชนิดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นอาหารงูได้ทั้งหมด 

วิธีไล่งูและป้องกันงูเข้าบ้าน 

เริ่มแรกเลยคือต้องสำรวจช่องทางเข้าบ้าน เนื่องจากงูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่เคลื่อนไหวได้ในเกือบทุกสภาพแวดล้อม ทั้งในน้ำ ทางลาดชัน ต้นไม้ ต้นเสาไฟฟ้า โพรง รูหรือช่องต่าง ๆ หรือแม้แต่บางช่องทางที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ดังนั้นเราจะต้องป้องกันทุกช่องทางที่มีความเป็นไปได้ให้หมด 

1. ประตู 

ช่องทางขนาดใหญ่ที่จะเชิญงูเข้าบ้านได้อย่างง่ายดาย หากใครเคยดูข่าว มีงูเข้าบ้านเพราะเปิดประตูทิ้งไว้ เปิดประตูรับลม แล้วมีงูเลื้อยเข้าบ้านทั้งที่คนในบ้านไม่เห็นหรือเห็นแล้วไล่งูได้ทัน ดังนั้นควรปิดประตูบ้านทุกครั้ง หรือติดประตูมุ้งลวดเพื่อรับลมแต่ป้องกันงูเข้าบ้านได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน 

2. หน้าต่าง 

อีกช่องทางที่งูสามารถเลื้อยเข้าบ้านได้เช่นกัน ป้องกันได้เหมือนเช่นกับประตูบ้าน คือ ปิดหน้าต่างทุกครั้ง หรือติดมุ้งลวดหรือตาข่ายกันแมลง หากต้องการเปิดหน้าต่างรับลม นอกจากช่วยป้องกันงูเข้าบ้านแล้ว ยังป้องกันยุงและแมลงต่าง ๆ หรือสัตว์อื่น ๆ ที่จะเป็นตัวล่องูเลื้อยตามเข้าบ้าน เช่น หนู กบ อึ่งอ่าง ตุ๊กแกเป็นต้น 

3. ช่องระบายอากาศรอบบ้าน 

ช่องระบายอากาศหรือช่องลมของบ้าน นับว่าเป็นอีกช่องทางที่หลายคนอาจลืมนึกถึง เนื่องจากช่องลมเหล่านี้มักจะอยู่ในจุดที่ไม่ได้เป็นที่สังเกต ทำให้มักถูกมองข้าม ควรติดมุ้งลวดป้องกันไว้ โดยเฉพาะจุดที่ไม่ค่อยมีคนอยู่ เพราะอาจกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของงูโดยไม่ได้รับเชิญ 

4. ชักโครก ท่อระบายน้ำ บ่อพักของเสีย 

อีกช่องทางที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นช่องทางที่งูสามารถเข้ามาได้ และอาจหาทางออกไม่ได้ ทำให้ต้องไปโผล่ชักโครกแทน อย่างที่เรามักจะเห็นข่าวบ่อย ๆ ดังนั้นจะต้องหมั่นตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ หากมีตรงไหนชำรุดจะได้รีบทำการซ่อมแซม เพื่อปิดช่องทางไม่ให้งูเล็ดลอดเข้ามาได้ 

5. รอยร้าว รู โพรง รอบบ้าน 

งู มีนิสัยชอบอยู่ในช่องที่มีความมืด อับ และใกล้แหล่งอาหาร เช่น โพรง รู หรือตามช่องรอยร้าว ที่สามารถเลื้อยเข้าไปได้ และยิ่งมีหนูอาศัยอยู่บริเวณนั้น ยิ่งทำให้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นแหล่งสวรรค์ที่งูต่างก็ต้องการเข้ามาอยู่อาศัย ดังนั้นหากพบรอยร้าว หรือช่องโหว่ที่มีความเสี่ยง ควรรีบทำการซ่อมแซม และถ้าหากมีหนูมักวิ่งขบวนพาเหรดในบริเวณไหน ให้รีบหาวิธีไล่หนูออกไปและจัดการดูแลบริเวณนั้นให้เรียบร้อย อุดรอยข่องโหว่ให้มิดชิด เพื่อป้องกันทั้งหนูและงู 

งูเข้าบ้าน ทําอย่างไรดี

หากงูเข้าบ้านแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำ คือ มีสติ เพื่อจะได้ควบคุมตนเองในการคิดหาวิธีต่อไปได้อย่างปลอดภัย โดยไม่พลั้งพลาดหรือมีเหตุการณ์บานปลาย หลังจากนั้นสิ่งที่ควรทำคือ 

1. สังเกตประเภทงู 

งูมีพิษหรืองูไม่มีพิษนั้น สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความชำนาญ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงูจริง ๆ ย่อมจะแยกแยะได้ยาก แต่อาจใช้วิธีการสังเกตจากลักษณะเด่นของงูมีพิษแทน เช่น งูเห่า หรือ งูจงอาง จะมีการแผ่แม่เบี้ย หรืองูสามเหลี่ยมจะมีลักษณะลำตัวเป็นรูปสามเหลี่ยม งูกะปะและงูเขียวหางไหม้จะมีเกล็ดละเอียด ลำตัวสั้น แก้มป่อง ฯลฯ แต่ถ้าหากไม่รู้จริง ๆ ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นงูพิษ เพื่อความไม่ประมาท

2. เฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของงูในที่ปลอดภัย 

คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของงู ว่างูไปทิศทางไหน ไปอยู่จุดไหนของบ้านแล้ว แต่คอยเฝ้าจับตาดูในระยะที่ปลอดภัย เพราะงูเองก็กลัวคนเช่นกัน หากเราไม่เข้าใกล้หรือทำให้งูตกใจ งูก็จะไม่ทำร้าย และถ้าหากงูเคลื่อนเข้ามาใกล้ ให้เราหยุดการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนถอยหลังไปในทิศทางอื่นอย่างช้า ๆ ด้วยความระวัง อย่าทำให้งูตกใจ เช่น เคลื่อนไหวด้วยความเร็ว วิ่ง หรือกระทืบเท้าไล่งู ขว้างปาสิ่งของใส่ ฯลฯ จะทำให้งูพุ่งเข้าทำร้ายได้ 

3. ติดต่อขอความช่วยเหลือ 

กรณีไม่มีประสบการณ์ ไม่มีอุปกรณ์ในการจับงู ควรติดต่อเจ้าหน้าที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ได้แก่ 

  • 1669  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
  • 1677  รายการวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 
  • 199    แจ้งอัคคีภัยและสัตว์เข้าบ้าน 

เพราะไม่ว่ามนุษย์หรืองูต่างก็เป็นสัตว์ที่อาศัยในโลกใบนี้ ซึ่งมนุษย์เป็นผู้รุกล้ำและเบียดเบียนแหล่งที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติของสัตว์อื่นก่อน และเมื่อพวกมันไร้ที่อยู่บวกกับการต้องหากินตามสัญชาติญาณ เราก็ต้องมีการปรับตัวและรู้จักหาวิธีป้องกันเพื่อความปลอดภัยของตนให้ได้มากที่สุด

(Visited 9 times, 1 visits today)
Close