Written by 3:12 am คัดสรรโดยทีมงาน, วัฒนธรรม, ไลฟ์สไตล์

กิจกรรมวันออกพรรษามีอะไรบ้าง และพิธีปวารณาคืออะไร 

วันออกพรรษา 2565 ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งนับเป็นวันสิ้นสุดการภาวนาจำพรรษาของพระภิกษุ-สามเณร เป็นเวลา 3 เดือน เป็นอีกวันสำคัญทางศาสนาและยังมีประเพณีอันดีงามที่ปฏิบัติควบคู่ในวันนี้ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย 

กิจกรรมในวันออกพรรษา

โดยในวันออกพรรษานี้ เหล่าภิกษุ-สามเณรจะมีการทำสังฆกรรมใหญ่ซึ่งเป็นกิจกรรมของสงฆ์ และก็มีกิจกรรมร่วมกันของฝ่ายฆราวาสในการร่วมบำเพ็ญบุญกุศล เพื่อสีบสานประเพณีและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาวไทยพุทธเอาไว้ ดังนี้ 

1. ตักบาตรเทโว 

การตักบาตรเทโวจะมีการจัดขึ้นที่วัดทุกแห่ง รวมไปถึงการนิมนต์พระสงฆ์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย สำนักงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และพนักงานได้มีโอกาสทำบุญด้วยการเตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เป็นการอำนวยความสะดวกในการสร้างกุศลให้กับฆราวาสทั่วไป ที่อาจไม่สามารถไปทำบุญที่วัดได้เนื่องจากติดภารกิจหน้าที่ประจำวัน 

2. การฟังเทศน์มหาชาติ

ความเชื่อของชาวไทยพุทธที่มีมาแต่โบราณ หากได้ฟังเทศน์มหาชาติจบ 13 กัณฑ์ภายในวันเดียว จะได้รับผลบุญกุศลเป็นอย่างมาก 

3. ทอดกฐิน 

ทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า จัดว่าเป็นการทำทานที่พิเศษ เนื่องจากสามารถถวายกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น โดยจะนิยมทำกันในช่วงเดือน 11 ถึงเดือน 12 เท่านั้น 

4. ปฏิบัติธรรมและฟังธรรมเทศนา 

มีการบรรยายธรรมตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น วัด โรงเรียน ลานชุมชน ฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนให้เข้าใจแก่นแท้หลักศาสนาพุทธ และมีกิจกรรมทางศาสนา เช่น การเจริญสมาธิ ภาวนา ทำบุญในรูปแบบต่าง ๆ 

5. อุทิศส่วนบุญกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ 

พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มักนิยมทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเชื่อว่าดวงจิตวิญญาณทุกดวงจะสามารถรับกุศลได้เต็มที่ในวันนี้ เนื่องจากเป็นวันที่ทั้ง 3 ภพ อันได้แก่ สวรรค์ มนุษย์ และ นรก  เปิดถึงแก่กันในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับลงมาจากการโปรดมารดาและเทวดาทั้งปวง 

วัตถุประสงค์วันออกพรรษา

ครั้นในสมัยพุทธกาล เมื่อสิ้นสุดของการเข้าพรรษา ซึ่งหมดฤดูฝนในระยะเวลา 3 เดือนแล้วนั้น พุทธสาวกที่ได้จำพรรษาในทุกแห่งหนจะพากันเดินทางเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า โดยพระพุทธองค์จะทรงตรัสถามถึงสิ่งพระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติระหว่างจำพรรษา แต่มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ทำการ มูควัตร (การปิดวาจาไม่พูด) เนื่องจากตั้งกกกติกากันเองว่าจะไม่พูดจากันเพราะเกรงว่าจะทะเลาะวิวาทกันระหว่างจำพรรษา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ทรงตำหนิ ว่าการทำ มูควัตร นี้เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ เป็นการพระพฤติเหมือนพฤติกรรมเหมือนสัตว์ ดังเช่น ไก่ แกะ แพะ วัว ที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกัน 

พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนแก่เหล่าพระภิกษุทั้งหลายที่มาเข้าเฝ้าว่า ผู้เจริญแล้วจักไม่ควรพึงประพฤติตนเช่นนั้น จากนั้นได้ทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้วทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรมในวันออกพรรษา และจักทำด้วยเมตตาจิตปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือน ทั้งด้านกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกกล่าวเตือนก็ต้องมีใจเปิดกว้าง มองเห็นถึงความปรารถนาดีของผู้ตักเตือนและพิจารณาตามคำเตือนนั้นด้วยใจที่นอบน้อม หากเป็นเรื่องจริงก็นำไปปรับปรุง และเรื่องใดที่ไม่เป็นจริงหรือเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลเพื่อทำความกระจ่างต่อกัน เพราะการทำปวารณานี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์

โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระบรมพุทธนุญาตให้ภิกษุที่ทำการปวารณาต่อกันกล่าวคำ ดังนี้ อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง วุตถานัง ภิกขูนัง ตีหิ ฐาเนหิ ปะวาเรตุง ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา  แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้ว ปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”

วันปวารณา หมายถึงวันใด 

วันออกพรรษาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา การทำมหาปวารณา เป็นการสังฆกรรมอย่างหนึ่งแทนการสวดพระปาฏิโมกข์ (พระวินัย) ซึ่งมีการทำกันทุก ๆ 15 วัน ในช่วงเข้าพรรษา โดยวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ครบกำหนดทางพระวินัยที่พระภิกษุและสามเณร ได้ภาวนาอธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน 3 เดือน โดยเริ่มการจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือ เดือน 9 หากเข้าพรรษาหลัง) แล้วอยู่ประจำที่แห่งนั้นและไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (หรือ เดือน 12 กรณีเข้าพรรษาหลัง) 

เมื่อถึงวันแห่งการสิ้นสุดในการจำพรรษาร่วมกันมาระหว่างภิกษุและสามเณรในที่แห่งเดียวกัน จะมีการประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า วันมหาปวารณา คือ วันที่พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปได้มีการกล่าวตักเตือนในความประพฤติต่าง ๆ ตั้งแต่พระสังฆเถระ คือ พระภิกษุผู้อาวุโสลงมาตลอดถึงสามเณร และได้กล่าวตักเตือนต่อกันด้วยเมตตาจิต และสามารถซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกัน

แนวทางการปฏิบัติตนในวันออกพรรษาสำหรับพุทธศาสนิกชน 

1. การกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน โดยตักตักเตือนด้วยความปรารถนาดีต่อกัน น้อมรับฟัง ปรับปรุง และชี้แจงต่อกันเพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่าง เพื่อสร้างความสามัคคีต่อกันในหมู่คณะ 

2. ให้ทาน ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร ตักบาตร บริจาคทรัพยช่วยเหลือคนหรือสัตว์ยากไร้ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ 

3. รักษาศีล 5 หรือ ศีล 8  สำรวมกาย วาจา ใจ พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรม 

4. ปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญสมาธิ เจริญภาวนา ไหว้พระ สวดมนต์ วิปัสนาตามแนวสติปัฏฐาน 4 

(Visited 4 times, 1 visits today)
Close