Written by 5:13 am ข่าวสาร, ประชาสัมพันธ์, สุขภาพ

“โรคฮิสโตพลาสโมซิส” โรคปอด ที่มีเชื้อมาจาก ค้างคาว

นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยโพสให้ความรู้เรื่องของโรคที่พบได้ไม่บ่อยอย่าง “โรคฮิสโตพลาสโมซิส” (Histoplasmosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบหายใจ โรคปอด โดยมีเชื้อราชนิดหนึ่งจากสัตว์ปีก เช่น “ค้างคาว” เป็นสาเหตุของการเกิดโรค 

เนื่องจากมีผู้ป่วยหญิงอายุ 45 ปี ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ ไม่มีโรคประจำตัว ได้เข้าพบหมอหลังจากที่มีอาการไอแห้ง ๆ มีเสมหะสีขาวเป็นบางครั้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด โดยไม่มีไข้ ไม่ปวดกระดูก และไม่มีอาการปวดศีรษะใด ๆ หลังจากได้ไปเที่ยวและลอดเข้าโพรงไม้ใหญ่ “ช้าม่วง” ที่เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเข้าไปดูค้างคาว และอยู่ในโพรงต้นไม้ประมาณ 3 นาที โดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา 

หลังจากกลับมาการเที่ยวชมดูค้างคาวได้ประมาณ 15 วัน ผู้ป่วยก็เริ่มมีอาการดังกล่าวโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงได้เดินทางไปพบแพทย์ ได้มีการ x-ray และพบว่ามีเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม เป็นสาเหตุให้มีอาการปอดอักเสบ และกระจายไปยังต่อมหมวกไตและม้ามด้วยเช่นกัน และเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ได้เริ่มฆ่าเชื้อราโดยใช้ยาชนิดกิน “ไอทราโคนาโซล” (Itraconazole) 200 มิลลิกรัม ทุกช่วงเช้า – เย็น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มมีอาการดีขึ้นตามลำดับ รวมถึงผลการเอกซเรย์ปอดก็ดีขึ้นช้า ๆ แต่ก็ยังต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องไปอีกประมาณ 12 เดือน หรือประมาณ 1 ปี 

โรคฮิสโตพลาสโมซิสคือโรคชนิดใด 

“โรคฮิสโตพลาสโมซิส” หรือ Histoplasmosis คือ โรคทางเดินระบบหายใจหรือโรคปอดชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการหายใจสูดเอาสปอร์ของเชื้อราฮิสโตพลาสมา แคปซูลาตุม (Histoplasma casulatum) จากมูลค้างคาวหรือสัตว์ปีกจำพวกนก โดยในระยะแรกจะเป็นการติดเชื้อในปอดหรือที่ผิวหนัง แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้น เชื้อจะเข้าสู่ระบบกระแสเลือดและน้ำเหลือง ลุกลามและแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมอง ม้าม ตับ ไขกระดูก ต่อมน้ำเหลือง ต่อมหมวกไต จนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ 

Histoplasmosis อาการเป็นอย่างไร 

โดยส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อราชนิดนี้มักไม่มีอาการ แต่ก็มีบางรายที่จะมีอาการผิดปกติ ตั้งแต่ติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ หรือติดเชื้อแบบแพร่กระจาย ส่วนความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ 

  • ผู้ที่มีภาวะปอดอักเสบมักจะมีไข้ หนาวสั่น หายใจหอบ ไอ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ และบางครั้งอาจมีไอเป็นเลือดร่วมด้วย 
  • ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณมาก อาจเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง มีอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (ARDS) 
  • ผู้ที่ติดเชื้อชนิดแพร่กระจาย (มักจะพบในเด็กเล็ก-ผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง) มีไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ตับ-ม้ามและต่อมน้ำเหลืองโต มีแผลเปื่อยในปาก ลำคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้และผิวหนัง ระบบการทำงานของต่อมหมวกไตเสื่อม มีภาวะเม็ดเลือดแดง-ขาว และเกล็ดเลือดต่ำ  

พบเชื้อ Histoplasma casulatum ได้ที่ไหนบ้าง 

สามารถพบเชื้อฮิสโตพลาสมาในระบบสิ่งแวดล้อมได้ในทุกที่ทั่วโลก  ไม่ว่าจะเป็นแหล่งธรรมชาติหรือแหล่งชุมชน ในดิน ซากต้นไม้ โรงนา โรงสีเก่า ตึกร้าง หรือตามซากวัสดุหักพังต่าง ๆ แต่จะพบได้มากในแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวและนก เพราะเชื้อราดังกล่าวอยู่ในมูลของสัตว์เหล่านี้ และเชื้อราฮิสโตพลาสมาเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้น และมีสารออร์แกนิก (Organic compound) ต่าง ๆ โดยเชื้อราจะสร้างสปอร์ขนาดเล็กมาก ๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ 

โดยปกติเรามักจะหายใจหรือสัมผัสผ่านทางผิวหนังกับเจ้าสปอร์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่เป็นปริมาณไม่มากนัก ภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงสามารถต้านทานได้ แต่ถ้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย หรืออยู่ในที่เป็นแหล่งของเชื้อราชนิดนี้จำนวนมาก เช่น การก่อสร้างหรือรื้ออาคาร เดินในถ้ำ พรวนดิน อยู่ในแหล่งชุมชนของฝูงค้างคาวหรือนกต่าง ๆ โรงนาเก่า เป็นต้น ทำให้มีการสูดดมเชื้อ Histoplasma capsulatum ก่อโรคฮิสโตพลาสโมซิสได้ โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

ฆ่าเชื้อฮิสโตพลาสมาด้วยความร้อนได้ไหม 

Histoplasma capsulatum คือเชื้อราที่เจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วง -18 – 37 องศาเซลเซียส แต่สามารถอยู่รอดได้ดีแม้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นหรือแม้แต่ในพื้นที่แห้งแล้งก็ตาม เพราะเชื้อฮิสโตพลาสมาอยู่ในรูปของสปอร์ จึงฆ่าให้ตายด้วยความร้อนนั้นยาก อีกทั้งยังมีชีวิตอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี แต่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตหรืออาจตายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อบางชนิด เช่น Sodium hypolirite , Isopropyl alcohol , Phenol 2% หรือ Formaldehyde เป็นต้น 

Histoplasma capsulatum สามารถถูกฆ่าด้วย Sodium hypolirite

นอกจากนี้ยังพบว่า มีสัตว์หลายชนิดด้วยกันที่เป็นโฮสต์ของเชื้อรา Histoplasma capsulatum เช่น สุนัข แมว หนู เป็ด ไก่ ม้า วัว ควาย รวมถึง คน แต่โรคฮิสโตพลาสโมซิส ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน หรือจากคนสู่สัตว์ และจากสัตว์สู่คน แต่เป็นการติดเชื้อจากการหายใจนำสปอร์ของเชื้อในมูลค้างคาวหรือนกตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงไม่ต้องตื่นตระหนกหรือหวาดระแวงสัตว์เลี้ยงทั่วไป (แต่ควรให้สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนให้ครบ เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ให้กับสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่อยู่ร่วมบ้านกับคน เช่น แมว หรือ สุนัข) 

แม้ว่าโรคฮิสโตพลาสโมซิสสามารถพบได้ทั่วโลก และจัดว่าเป็นโรคประจำถิ่นทวีปอเมริกาเหนือ หรืออาจจะพบได้ในกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ฯลฯ แต่ก็ยังเป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก 
และสำหรับผู้ที่รักในการเดินป่า ท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ หรือต้องอยู่ในสถานที่เสี่ยงด้วยปัจจัยที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด ควรเพิ่มความระมัดระวังและมีอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น เมื่อจะไปสำรวจธรรมชาติ เข้าโพรงต้นไม้ ถ้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ปีก หรืออยู่ในที่มีการก่อสร้างหรือรื้ออาคาร จะต้องใส่หน้ากากอนามัยแบบแพทย์ใส่ในห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันหายใจเอาสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ปอด เพราะต่อให้โรคฮิสโตพลาสโมซิสยังไม่ใช่โรคติดต่อที่เสี่ยงต่อการระบาด แต่ไม่ควรประมาทและการป้องกันตนให้มากเป็นวิธีที่ดีที่สุด จะได้ปิดกั้นช่องทางการระบาดโรคอุบัติใหม่มาซ้ำเติมต่อมวลมนุษย์โลกอีกครั้ง

(Visited 14 times, 1 visits today)
Close